คนเป็นพ่อเป็นแม่ มักใช้ความเป็นผู้ใหญ่มองเด็ก โดยบางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เด็กคิดนั้น
อาจเป็นอีกหนึ่งมุมมองของเขา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พ่อแม่อาจไม่เคยรู้ ว่าสิ่งที่ทำกับลูกในทุกวันนี้
อาจส่งผลทําร้ายจิตใจลูกได้มากที่สุด อยากเลี้ยงลูกให้ดี เลิกทำ 9 สิ่งที่ทำร้ายจิตใจลูก
1. มองข้ามการแสดงความคิดเห็นของลูก
ผู้ใหญ่มักแสดงความไม่พอใจต่อเด็กที่ประพฤติตัวไม่ดี โดยอาจใช้การดุด่า ต่อว่า แต่เด็กร้อยละ 90
ไม่สามารถแสดงอาการไม่พอใจในตัวผู้ใหญ่ออกมาได้ และหากกล่าวว่าผู้ใหญ่ผิดก็ทำให้มองว่าเป็นเด็กไม่ดี
ทำตัวไม่เหมาะสม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างให้ลูกในการแสดงออก และเปิดใจให้กว้าง
ต่อการฟังความคิดเห็นจากทุกคนในครอบครัว ยอมรับความผิดถูก และช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อให้ลูกกล้าแสดงออก
และรู้จักที่จะยอมรับในสิ่งผิด อันจะเป็นรากฐานต่อการใช้ชีวิตในสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น
2. ใช้ความรุนแรงกับลูก
หมดยุคการลงโทษโดยใช้ไม้เรียวตีลูก เพื่อสร้างให้เป็นคนดีกันแล้ว เพราะการตีหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก
ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือปรับนิสัยลูกให้เป็นไปตามที่พ่อแม่คาดหวังได้ แต่จะเป็นการซ้ำเติมให้ลูก
มีปมภายในใจหนักขึ้นไปอีก ความรุนแรงระหว่างพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือความรุนแรงที่ทำต่อลูก ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดี
ที่ยิ่งทำให้ลูกมีอาการต่อต้านหนักขึ้น และจะกลายเป็นภาพจำ ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวต่อไปได้ในอนาคต
3. เมินเฉยกับการทำดีของลูก หรือรู้สึกยินดีแบบผ่าน ๆ
ผู้ใหญ่มักมองเห็นความสำเร็จเล็ก ๆ ของลูกเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย และให้ความยินดีแค่เพียงผ่าน ๆ แทนที่จะมองว่าผลลัพธ์
ในสิ่งที่ลูกทำได้ดีนั้น จะเป็นการต่อยอดไปสู่ผลงาน หรือความสำเร็จที่ดีในอนาคตของเขาได้ หากได้รับการส่งเสริมที่ดีจากพ่อแม่
การเมินเฉยหรือการยินดีแค่เพียงชั่วขณะ อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจ และไม่ภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้
4. นำเรื่องที่เคยทำผิดของลูกมากล่าวว่าซ้ำ ๆ
ผู้ใหญ่ส่วนมากเวลาดุเด็กที่ทำผิด มักจะนำเรื่องของลูกที่เคยทำผิดมาแล้ว มากล่าวว่าซ้ำ ๆ เหมือนเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมลูกเข้าไปอีก
และร้อยละ 50 ที่แสดงอาการแบบนี้ จะหยุดก็ต่อเมื่อเด็กเกิดอาการเสียใจ การทำแบบนี้ถือเป็นการกระทำที่ทำร้ายจิตใจลูกได้มาก
และจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเจ็บใจ โกรธ จนทำให้ลูกไม่คิดจะปรับปรุงตัวให้เป็นเด็กที่ดีขึ้นง่าย ๆ แน่
5. เปิดเผยความลับของลูกให้คนอื่น
แท้จริงแล้วพ่อแม่คือที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของลูก แต่เด็กในสังคมไทยปัจจุบัน กลับเลือกปรึกษาเพื่อนก่อนพ่อแม่
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าบางเรื่อง พ่อแม่เห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือเป็นเรื่องที่มองข้ามความสำคัญของลูกไป
หรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จนลูกมองว่าพ่อแม่ช่วยอะไรไม่ได้ แต่สาเหตุหลักคือเรื่องของความลับที่เด็กไม่อยากให้คนจำนวนมากรู้
หากมีเรื่องสำคัญนั้น ร้อยละ 80 ลูกมักจะเลือกบอกแม่ แต่แม่ก็อาจจะนำความลับนี้ไปปรึกษาพ่อหรือคนอื่น
ซึ่งการทำแบบนี้ อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ หรือเชื่อใจที่จะบอกความลับตนเอง จึงมักทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังได้
6. ลงโทษเมื่อลูกทำผิด
พ่อแม่จำนวนมากคิดว่าการลงโทษ คือวิธีที่จะทำให้เด็กจดจำ และจะไม่ทำผิดอีก แต่กลับตรงกันข้าม วิธีนี้จะทำให้ทำให้ลูก
รู้สึกเสียใจ กลายเป็นเด็กที่เก็บกด และกลัวความผิดพลาด จนกลายเป็นคนขี้ระแวงได้ วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือ
การปลอบเมื่อลูกทำผิดพลาด อธิบายเหตุผลว่าทำไมนี่คือสิ่งที่ลูกทำผิด จะมีผลเสียอย่างไร พร้อมทั้งแนะนำ
ช่วยกันหาวิธี คิดแก้ปัญหาให้กับลูก หรือใช้วิธีลงโทษแบบนุ่มนวล เช่น การลงโทษแบบ time in หรือ time out
7. ใช้ถ้อยคำรุนแรง ด่าว่าลูก
การใช้ถ้อยคำที่ว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเด็กทำผิด ไม่ใช่การด่าว่า ใช้คำรุนแรง ส่อเสียด เพื่อให้เด็กกลัวหรือหลาบจำ
เพราะการทำแบบนี้ นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ยังทำให้เด็กไม่มีความสำนึกผิด หนำซ้ำยังคิดจะทำครั้งต่อไป
แบบที่ไม่ทำให้โดนจับได้ เพื่อจะได้ไม่โดนด่า แถมยังเกิดการเลียนแบบถ้อยคำหยาบคายจากผู้ใหญ่อีกด้วย
8. อารมณ์เสียใส่ลูก
พ่อแม่ที่อารมณ์เสียหรือทะเลาะกัน บางครั้งก็มักจะอารมณ์เสียใส่ลูกโดยไม่รู้ตัว หรือพาลไปหาเรื่องลูก ลงใส่ลูก
การทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการทำร้ายจิตใจลูกโดยง่ายแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่มีเหตุผล จนไม่คิดจะเชื่อถือได้
9. เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก และไม่ใจกว้างที่จะเข้าใจลูกตัวเอง
พ่อแม่อาจจะจดจำวันเดือนปีเกิดของลูกได้ รู้ว่าลูกชอบกินอะไร หรือไม่ชอบอะไร ฯลฯ แต่การรู้จักลูกในสิ่งเหล่านี้
ไม่ได้หมายความว่า คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจในสิ่งที่ลูกคิดได้ หากคุณยังต้องการให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่พ่อแม่คิด
โดยไม่ถามความสมัครใจ หรือไม่ได้สังเกตอาการ สีหน้า ความสุข ของลูกเลย พ่อแม่ทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามตี ห้ามดุไปเลยทีเดียว แต่ควรทำแบบพอดี ไม่มากเกินไป
ควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ใช้ความจำเป็นให้มากกว่าความต้องการ เพื่อไม่เป็นการทำร้ายจิตใจลูก
และสร้างลูกให้เป็นคนดีต่อไป เพื่อความภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเขาเติบโตขึ้นมานะคะ
ที่มา t h t h e a s i a n p a r e n t