“น้ำใจอยู่ที่คนให้ ไม่ใช่คนรับ” ว่าด้วยเรื่องของน้ำใจ
มีคุณแม่ท่านหนึ่ง เล่าเรื่องของลูกสาว และขอคำปรึกษาว่าจะแนะนำลูกอย่างไรดี
ลูกสาวเป็นเด็กดี มีน้ำใจกับเพื่อน ๆ แต่โลกในความเป็นจริง ก็ไม่เหมือนที่เราคาดหวัง
บางครั้งแม้ลูกจะมีน้ำใจกับเพื่อน ๆ แต่เพื่อน ๆ บางทีก็ไม่ได้ให้ความมีน้ำใจตอบ
แถมบางวันยังถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและเอาเปรียบ ลูกสาวคุณแม่ผิดหวังกับสิ่งเกิดขึ้น
เลยไม่แน่ใจว่า การมีน้ำใจกับเพื่อน ๆ แบบนี้..มันถูกต้องแล้วหรือไม่
แม่สงสัยและเริ่มไม่แน่ใจว่า จะตอบลูกอย่างไรดี?
อย่างแรกเลย คุณแม่ต้องมีความเชื่อมั่นก่อน
ในเรื่องการทำความดี มีน้ำใจกับคนรอบข้าง
จึงจะให้ความเชื่อมั่นกับลูกได้ และต้องให้กำลังใจ ชื่นชมในสิ่งดี ๆ ที่ลูกทำไป
พ่อแม่บางคน อาจจะบอกลูกว่า “ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ไม่ต้องไปดีกับคนอื่นมาก”
หรือ “สังคมก็เป็นแบบนี้ ไม่มีใครจริงใจหรอก” แม้กระทั่งสอนให้ลูกมองโลกในแง่ร้าย
ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องทำดีกับใคร ไม่ต้องจริงใจกับใครด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องมาผิดหวังทีหลัง
คำสอนเหล่านี้ ทำให้เกิดความกลัวในใจเด็ก แล้วถ้าได้ฟังบ่อย ๆ เด็กบางคนจะหวาดระแวง
ไม่กล้าเปิดใจสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่น กลายเป็นแผลในใจของเด็ก
พ่อแม่ควรให้ความมั่นใจกับเด็ก ให้มีกำลังใจ และแน่วแน่ในความดีที่เราทำไป
อย่างน้อย สิ่งดี ๆ ที่ทำ..ก็ดีต่อใจของตัวเอง ให้มีความหนักแน่นในความดีที่เรายึดมั่น
อย่างที่สอง รับฟังและยอมรับความรู้สึกผิดหวังของลูก
บอกกับลูกว่า เป็นธรรมดาที่ชีวิตเราต้องเจอเรื่องผิดหวัง เรื่องบางเรื่อง ก็ไม่เป็นเหมือนที่คาดหวังเอาไว้
เพราะ “เราไม่สามารถควบคุมการกระทำของคนอื่นได้”
เราทำได้แค่เพียงตัดสินใจว่า เราจะทำอะไร จะใช้ชีวิตยังไง และอยากจะเป็นคนแบบไหนในสังคม
อย่างที่สาม เข้าใจในตัวตน ให้ลูกได้ตัดสินใจ และเรียนรู้เองว่า จะทำอย่างไรต่อไป
บทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ จะเป็นประสบการณ์ชีวิต ที่สอนเขาในวันข้างหน้าว่า
เป็นธรรมดาที่ในชีวิตของคนเรา ต้องพบเจอกับเรื่องผิดหวัง
และหลายครั้งที่ความผิดหวังที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะมันเกิดจากคนอื่น
ก็ขอให้อย่าท้อแท้ และมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป เพื่อความสุขสบายใจ
เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้คิดถึงคำพูดหนึ่ง ที่บอกไว้ว่า
เรามีน้ำใจกับเขา ถึงเขาไม่เห็นน้ำใจเรา ก็ยังดีอยู่ เพราะการที่เขาไม่มีน้ำใจกับเรา
ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนไม่มีน้ำใจไปด้วย “น้ำใจอยู่ที่คนให้ ไม่ใช่คนรับ”
บางครั้งช่วยคนผิด ไม่ใช่เพราะโง่ แต่เพราะเห็นแก่ความรู้สึกมากเกินไป
บางครั้งดูคนผิด ไม่ใช่เพราะซื่อบื้อ แต่เพราะใจดีเกินไป
การเป็นคนดี ก็ต้องเป็นคนดีให้พอเหมาะพอควร
การทำความดี ก็ต้องทำดีให้พอเหมาะพอควร
การเป็นคนดีเกินไป ใคร ๆ ก็จะไม่เกรงใจ และมักเอาเปรียบเสมอ