1. แสดงออกชัดเจน ว่าเราไม่ให้ยืม
วิธีรับมือคนขอยืมเงิน วิธีแรก บอกให้ชัดเจนไปเลยว่า เราไม่ให้ใครยืมเงินทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้อง
เมื่อเราชัดเจนว่าไม่ให้ใครยืมเงินตั้งแต่แรก มันก็ง่ายที่จะปฏิเสธ โดยไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้าง หรือเหตุผลอะไรอีก
วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีวินัย ในการใช้ชีวิตระดับหนึ่งนะคะ คือ พึ่งพาตัวเองเป็น รู้จักดูแลตัวเอง
เพราะถ้าเราไม่ให้ใครยืม เราก็ไม่ควรจะไปยืมเงิน หรือไหว้วานคนอื่นเช่นกันค่ะ
2. พูดตรง ๆ และสั้น ๆ
ตอนปฏิเสธคนที่มายืมเงิน ไม่ต้องอธิบายสถานะทางการเงินของเรา เช่น ตอนนี้ฉันมีแพลนใช้เงินเรียนต่อ ป.โท ด้านบริหารธุรกิจ
ฉันจะเอาเงินไปศัลยกรรมที่เกาหลี ฯลฯ ไม่ให้ก็คือไม่ให้ คนยืมเขาอยากได้แค่เงิน ไม่ได้ต้องการคำอธิบายอะไรทั้งนั้น
และเป็นสิทธิ์ของเราด้วยที่จะไม่พูด แต่ถ้ากลัวว่าบทสนทนาจะตัดรอนกันเกินไป ลองปฏิเสธอย่างสุภาพแบบนี้ดูค่ะ
“ฉันมีเงินแทบไม่พอใช้เลยช่วงนี้” หรือ “ขอโทษนะ ตอนนี้ฉันก็ยืมคนอื่นอยู่เหมือนกัน” ประโยคเหล่านี้ตรงไปตรงมา
แต่ไม่หยาบ ไม่ห้วน ไม่ตัดรอนจนเกินไป และช่วยปิดช่องไม่ให้คนอื่นมาขอยืมเงินอีกในอนาคต ให้จำไว้เสมอว่า
มันเป็นเงินของเรา เราไม่จำเป็นต้องอธิบายสถานะ หรือวิธีการใช้เงินของเรากับใคร โดยเฉพาะคนที่จะยืมเงินเรา
3. ขอเวลาตัดสินใจ
บางกรณีก็ยากจริง ๆ ที่จะพูดว่า ให้ยืมเงินไม่ได้ เช่น เพื่อนสนิท ญาติ หรือคนในครอบครัว ที่ต้องเจอหน้ากันทุกวัน
ถ้ารู้สึกถูกต้อนให้จนมุม ลองขอเวลาคนยืมเงินว่า “ขอฉันคิดดูก่อนนะ การยืมเงินเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ”
พวกเขาเองก็รู้ดี ไม่งั้นคงไม่บากหน้ามาขอยืมเงิน ถ้าคนมีมารยาทจริง ๆ จะเข้าใจว่า คนถูกยืมมีสิทธิ์คิดได้ว่า
จะให้ยืมเงินดีหรือไม่ และเมื่อเราพูดว่า “ขอคิดดูก่อน” นั่นหมายถึง การเปิดโอกาส การให้ความหวังคนที่มายืมนะคะ
ดังนั้น ต้องบอกพวกเขาด้วยว่า ขอเวลานานแค่ไหน แล้วกลับไปคิดให้รอบคอบว่า เรามีเงินพอจะให้ยืมหรือไม่
ให้เวลายืมได้นานแค่ไหน แล้วถ้าเขายืมเงินไม่คืน จะมีผลกระทบกับความสัมพันธ์แค่ไหนด้วย
4. เสนอความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น
นอกจากพูดว่า “ไม่” เราสามารถช่วยเหลือ คนที่มายืมเงินในรูปแบบอื่นได้
เช่น ถ้าพวกเขาไม่มีเงิน เพราะไม่มีงานทำ เราก็ช่วยหางานให้พวกเขาทำ หรือจะทำอาหารเผื่อพวกเขา เพื่อช่วยประหยัดเงินค่าอาหาร
ไม่ก็ลองช่วยพวกเขา หาวิธีกู้เงินทางอื่นแทน เช่น กู้เงินธนาคาร เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มาขอยืมเงินเรา
ถ้าไม่ได้เงิน พวกเขาอาจไม่ต้องการวิธี หรือความช่วยเหลือแบบอื่น เราควรดูท่าทีของพวกเขาก่อนจะให้คำแนะนำด้วย
5. ให้ยืมแบบไม่หวังได้คืน
ถ้าจนแล้วจนรอด ยังไงก็รู้สึกว่า คนนี้เราต้องช่วยจริง ๆ ไม่ให้ไม่ได้จริง ๆ ลองหาเหตุผลการให้ แบบที่เราคิดเสียว่า ให้เงินเป็นของขวัญไปเลย
เช่น ใกล้วันเกิดของคนยืมเงินคนนี้ ก็ให้เงินเขาแล้วบอกไปเลยว่า “ฉันมีแค่นี้แหละ ถือว่าให้เป็นของขวัญวันเกิดแล้วกันนะ”
ให้เท่าที่เราไม่เดือดร้อน ถึงแม้จะไม่เต็มจำนวนที่เขาต้องการ แต่อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาได้บ้าง
6. ไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของตัวเอง
ถ้าต้องการลดแรงกดดัน หรือโอกาสที่คนยืมเงินจะแวะมาเยี่ยมเยียนเรา การไม่เที่ยวบอกใครว่า ได้เงินเดือนเท่าไหร่ มีเงินเก็บที่ไหนบ้าง
มีทรัพย์สิน หนี้สินเท่าไหร่ คือสิ่งที่เราควรทำอย่างเคร่งครัด ถ้ามีใครมาถามเรื่องเงิน อาจจะพูดแบบกลาง ๆ ว่า “ก็พออยู่ได้” หรือ “พอมีพอกิน”
อย่าบอกตัวเลขโต้ง ๆ ว่า “ฉันมีเงินสำรองฉุกเฉินในบัญชีสามล้านบาท” เพราะมันจะกลายเป็นสัญญาทางสังคมรอบตัวเราทันทีว่า
เงินฉุกเฉินนี้ อาจหมายถึง มีพอให้คนอื่นขอยืมตอนฉุกเฉินก็เป็นได้ ก่อนจากกัน จำไว้อย่างหนึ่งว่า เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไกลตัว
ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจอเคสโดนยืมเงินไม่คืน ก็อย่าด่วนปากเร็ว ตัดสินใจเร็ว และเราต้องเก็บหลักฐานทุกครั้ง ตอนให้คนอื่นยืมเงิน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม