Skip to content
น่าอ่าน
Menu
Menu

4 พฤติกรรมพ่อแม่จอมสปอยล์ ถ้ารักลูกจริง ต้องเลิกให้ได้

Posted on 19 มิถุนายน 2022 by น่าอ่าน

พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่การรักลูกโดยการตามใจลูกจนเกินพอดี อาจกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน มีผลต่อพฤติกรรมของลูกเมื่อโตขึ้น

เช่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตัวเองถูกเสมอ คนอื่นสิผิด หรือเอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรต้องได้

ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้ลูก เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นนอกบ้าน หากไม่อยากให้ลูกเสียคน พ่อแม่ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้

มาดูกันว่า ลูกของเรานั้น เข้าข่ายเป็นเด็กที่โดนสปอยล์หรือไม่

ตามที่ สถาบันกุมารเวชศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นิยามอาการของเด็กที่ถูกสปอยล์ ไว้ว่า

เด็กในกลุ่มนี้ มักจะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง มีพฤติกรรมที่ถดถอย (ทำในสิ่งที่เด็กในวัยนั้น ๆ ไม่ทำกันแล้ว)

แต่พ่อแม่หลายคนอาจสับสน ว่าพฤติกรรมที่ลูกกำลังทำนั้น เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ถูกสปอยล์หรือไม่

หรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่ปกติในช่วงวัยนั้น ๆ มาดู เช็กลิสต์อาการลูกถูกสปอยล์กัน

– หลงตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตนเอง

– ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่และเด็กคนอื่น ๆ

– ไม่เชื่อฟังคนอื่น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

– มีอารมณ์แปรปรวน

– ไม่มีแรงจูงใจในการเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ

– ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้

– จอมบงการ

4 พฤติกรรมพ่อแม่จอม “สปอยล์ลูก”

1. ให้ลูกเป็นทุกลมหายใจของพ่อแม่

เมื่อมีลูก พ่อแม่หลายคนก็ได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้กับลูก เป็นทุกอย่าง ทำทุกอย่าง คิดทุกอย่างให้ลูก จนลูกไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง

พ่อแม่กลุ่มนี้ จะไม่อยู่ห่างจากลูก ยอมทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อทำตามสิ่งที่ลูกต้องการ และทำให้ลูกเป็นศูนย์กลางจักรวาล

2. ชดเชยความผิดของพ่อแม่ด้วยสิ่งของ

เช่น พ่อแม่ที่ต้องทำงาน มักจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกได้มากพอ จึงซื้อของเล่นให้ลูกเยอะ ๆ เพื่อชดเชยความผิดนี้

การทำแบบนี้ สอนให้เด็กรู้ว่า เมื่อคนอื่นทำอะไรผิด เขาจะได้รับสิ่งของเป็นการตอบแทน สำหรับพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน

ไม่ต้องกังวลใจไปว่าการมีเวลาอยู่กับลูกเพียงเล็กน้อย จะทำให้ลูกมีปัญหา เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาคุณภาพอยู่กับลูก

โดยการหากิจกรรมทำร่วมกัน และช่วงเวลาที่อยู่กับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่โฟกัสไปที่ลูกเพียงอย่างเดียว ไม่หยิบมือถือ ไม่คิดเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ

แม้จะเป็นการใช้เวลาร่วมกันเพียงน้อยนิด แต่ก็ช่วยเติมเต็มให้ลูกได้มากกว่าการอยู่กับลูกทั้งวัน แต่พ่อแม่ไม่สนใจลูกอีกค่ะ

3. ใช้ชีวิตแทนลูก

พ่อแม่กลุ่มนี้จะวางแผนชีวิตให้ลูก บงการให้ลูกใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเลือกไว้เท่านั้น ลูกจะไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเลือกได้

และพ่อแม่กลุ่มนี้จะเตรียมทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เป็นไปตามที่พ่อแม่ได้วาดฝันไว้ ว่าจะให้ลูกเป็นหรือให้ลูกมี

การให้ลูกเรียนในสิ่งที่ตัวเองเคยอยากจะเรียน หรือการซื้อของให้ลูก เพราะในวัยเด็กตนเองอยากได้ ก็เป็นหนึ่งในการสปอยล์ลูกอย่างหนึ่ง

เพราะการไม่ถามว่า ลูกอยากได้หรืออยากเรียนสิ่งนั้นหรือไม่ ก็เรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตแทนลูก

4. ไม่เคยปล่อยให้ลูกรอ

เมื่อลูกอยากได้อะไร ชี้อะไร สิ่งของเหล่านั้นจะมาอยู่ตรงหน้าลูกทันที พฤติกรรมที่พ่อแม่ทำนี้ จะทำให้ลูกไม่รู้จักการรอคอย

การอดทน การอดออม เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาเป็นของตน ลูกจะไม่เห็นสิ่งอื่น ๆ มีค่า เพราะไม่เคยต้องอดทนรอคอยเลย

บางครั้งการปล่อยให้ลูกได้หิว ร้อน เหนื่อยบ้าง จะทำให้ลูกรู้ว่า อาหารที่อยู่ตรงหน้าอร่อยเพียงใดก็เป็นได้

ต้องเข้าใจว่า เด็กก็คือเด็ก ในบางครั้งลูกอาจจะงอแง อยากมี อยากได้ ตามวัยของเขา และพ่อแม่ทุกคนก็ไม่อยากเห็นลูกเสียใจหรอกค่ะ

เพราะเราทั้งรักและห่วงลูกเป็นที่สุด แต่จะตามใจลูกได้แค่ไหน เพื่อไม่ให้ลูกโดนสปอยล์จนเสียคน

4 เทคนิคเลี้ยงลูกแบบไม่สปอยล์

รับฟังความต้องการของลูก แต่แก้ปัญหาตามแนวทางของพ่อแม่

ให้ลองรับฟังลูกว่าลูกต้องการอะไร รู้สึกเสียใจเพราะอะไร แม้ว่าความต้องการนั้น ๆ จะไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรับฟังไว้

และไม่ควรต่อว่าลูกว่าไร้สาระ หรือไม่มีความจำเป็น การเป็นผู้ฟังที่ดี จะทำให้ลูกเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจพ่อแม่ และเมื่อรับฟังแล้ว

สิ่งสำคัญหลังจากนั้นคือ แนวทางการช่วยแก้ปัญหาให้ลูก พ่อแม่ควรยึดหลักและกฎเกณฑ์ในบ้านเป็นหลัก ไม่ควรแหวกกฎเกณฑ์เพื่อตามใจลูก

เช่น เมื่อลูกอยากได้โทรศัพท์มือถือเพราะเพื่อนมีกันหมดแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่รับฟังว่าลูกรู้สึกอย่างไร ต้องการมากแค่ไหน

หลังจากนั้นให้ย้ำถึงกฎเกณฑ์ว่า เราได้ตกลงกันแล้วว่าลูกจะมีโทรศัพท์มือถือได้ เมื่อลูกอยู่ในวัยที่เหมาะสมเท่านั้น เป็นต้น

อย่ากลัวที่จะให้ลูกผิดพลาด

ผิดเป็นครู ถ้าลูกไม่รู้จักผิดพลาด ผิดหวังเลย จะมีแรงจูงใจอะไรให้พยายามทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จได้ และลูกจะรู้จักระมัดระวัง

ไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือไม่ ถ้าไม่เคยทำผิดเลย ตัวอย่างเช่น เวลาเล่นเกมกับลูก ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้

และให้ลูกชนะทุกครั้ง การให้ลูกรู้จักแพ้บ้าง เพื่อให้ลูกได้พยายามทำให้ตัวเองชนะ ก็เหมือนกับการที่พ่อแม่ต่อขั้นบันได

ให้ลูกได้ปีนผ่านอุปสรรคต่าง ๆ จนทำสิ่งเหล่านั้นได้สำเร็จนั่นเอง และเมื่อลูกทำสำเร็จได้ด้วยตัวเอง

ลูกจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem)ซึ่งความภาคภูมิใจนี้ จะเป็นผลดีกับชีวิตของลูกในอนาคต

อย่าสรรเสริญเยินยอลูกจนมากเกินไป

การชื่นชมลูกเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญ แต่การชมจนมากเกินไป จนถึงขั้นสรรเสริญเยินยอ ก็อาจจะเป็นการทำร้ายลูกได้

เพราะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่หลงตัวเองจนเกินพอดี หรือบางครั้งอาจจะเป็นการกดดันลูกได้ เพราะลูกจะรู้สึกว่า

พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเป็นแบบนั้น การชมลูกที่ถูกต้อง ควรเน้นที่การชมถึงความพยายามของลูก ว่าการที่ลูกทำสิ่งนั้น ๆ สำเร็จได้

เป็นเพราะลูกพยายาม เช่น เมื่อลูกสอบได้คะแนนดี แทนที่จะชมว่าลูกหัวดี เรียนเก่ง ให้ลองปรับคำพูดเป็น

“เป็นเพราะลูกพยายาม ตั้งใจเรียน ตั้งใจทบทวนอ่านหนังสือ เลยทำให้ลูกได้คะแนนดี” เป็นต้น

รักษากฎเกณฑ์ภายในบ้าน

อย่าปล่อยให้ลูกแหวกกฎเกณฑ์ภายในบ้านซ้ำ ๆ เพราะจะทำให้ลูกลดความเคารพในสิทธิของคนอื่น ๆ การตั้งกฎเกณฑ์ภายในบ้านของทุกบ้าน

เป็นเพราะพ่อแม่ต้องการจำลองสถานการณ์ ให้ลูกได้รู้จักกฎของการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ลูกทำตามใจตนเอง

เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว เพราะหากลูกทำจนชิน

เมื่อลูกต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคม ลูกจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ พ่อแม่หลายคนอาจจะกลัวจนไม่กล้าตามใจลูกเลย เพราะกลัวจะเป็นการสปอยล์ลูก อยากบอกว่า

เราสามารถตามใจลูกได้นะคะ แต่ควรตามใจแต่พอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่วนการจะตามใจมากน้อยแค่ไหน

ให้พิจารณาตามความเหมาะสมและโอกาส สิ่งที่สำคัญคือ ควรให้มีการรอคอยบ้างตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องของเล่น ขนม อย่าให้ทันทีทุกครั้ง

และเมื่อลูกมีอาการร้องไห้งอแง โวยวาย ให้ตั้งสติก่อนปรับพฤติกรรมลูก อย่าใช้อารมณ์ และเน้นใช้ความสม่ำเสมอ

นั่นคือ ไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ลูกแสดงออก หากอยู่ในที่สาธารณะให้พาไปในที่เงียบสงบ ใช้การอธิบายที่นิ่งและมั่นคง

ไม่แสดงอารมณ์ เมื่อพ่อแม่แสดงออกถึงวุฒิภาวะที่มั่นคง อาการงอแงและโวยวายของลูกจะค่อย ๆ ลดลงไป แต่ความรู้สึกถึงความรักจากพ่อแม่จะยังคงอยู่