1. ระงับคำพูดและการกระทำในยามที่โกรธ
คือ หากรู้สึกว่าอารมณ์กำลังพลุ่งพล่าน ให้สงบนิ่งไว้ จำไว้เสมอว่า.. ความคิดใด ๆ คำพูดใด ๆ การกระทำใด ๆ
หากมีขึ้นในยามโกรธ มักเป็นไปในทางทำลายรุนแรง อาจสะใจชั่วครู่ แต่สุดท้ายจะไม่เป็นผลดี กฏเหล็กเบื้องต้นที่ต้องทำให้ได้คือ..
เราจะไม่พูด หรือทำอะไรในยามที่โกรธเด็ดขาด รอให้ใจเย็นก่อน หายโกรธก่อนแล้วค่อยว่ากัน
2. พิจารณาโทษของความโกรธ และประโยชน์ของความเมตตา
คือให้ย้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา ว่าเราเสียอะไรไปบ้างเพราะความโกรธ ทำใครเสียใจกี่คน ทำลายโอกาสไปเท่าไหร่ ทำลายความสัมพันธ์ไปอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ให้น้อมมาคิดบ่อย ๆ คิดซ้ำให้มาก ๆ พิจารณาจนใจยอมรับ หมดข้ออ้าง อยากปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ
เพราะมั่นใจแล้วว่า ความโกรธไม่ใช่ของดี แต่เป็นสิ่งที่ทำลายความสุขและความเจริญ ทั้งของเรา คนที่เรารัก และคนที่รักเรา
ไม่มีใครได้อะไรเลยจากความโกรธ ธรรมชาติคนเราไม่ชอบให้ใครมาสั่ง ตราบที่เรายังไม่ตกผลึก ยอมจำนนด้วยตนเองว่า
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนตนเอง ใครจะพูด ใครจะบอกจะสอน ก็ยากยิ่งที่คนเราจะเปลี่ยนแปลง เช่นนี้แล้ว
เราจึงต้องทำตัวเป็นครูของตัวเอง เพื่อสั่งสอนตนเอง ให้เห็นพิษภัยของความโกรธเกลียด อารมณ์ทำลาย
3. สร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผู้อื่นจนเป็นนิสัย
คือให้รู้จักชื่นชม ให้กำลังใจผู้คนบ่อย ๆ เมื่อทำให้เขามีความสุขแล้ว ให้เรารู้จักเอาใจไปสัมผัสความรู้สึกนั้นเรียกว่า
ให้ใจเราดื่มด่ำกับความรู้สึกที่เย็นใจอยู่เสมอ เราอาจจะลองเปรียบเทียบกันดูก็ได้ ว่าอารมณ์ลักษณะนี้ กับอารมณ์ในยามที่โกรธ แบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าใจเราคุ้นกับความรู้สึกที่ดี มันจะค่อย ๆ เบื่อหน่ายความโกรธเกลียดไปทีละน้อย ในข้อนี้เป็นการแก้กิเลสด้วยกุศลฝ่ายตรงข้าม
ถ้าความโกรธเป็นด้านมืด ในที่นี้ด้านสว่างก็คือความเมตตา เราอาจขับไล่ความมืดไม่ได้ แต่ถ้าเราจุดไฟได้ ความมืดจะหายไป
และความสว่างจะเข้ามาแทนที่ ภาษาธรรมเรียกสิ่งนี้ว่า การทวนกระแสกิเลส คือใช้ธรรมคู่ตรงข้ามมาจัดการกิเลสให้เบาบาง
4. ฝึกมองความรู้สึกด้วยใจที่เป็นกลาง
ในข้อนี้คือธรรมะชั้นลึก เป็นการเจริญสติ คือเราฝึกมองดูอารมณ์ต่าง ๆ ของเราด้วยใจที่เป็นกลาง เหมือนความคิดความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรา
ดีใจก็ไม่เข้าไป เสียใจก็ไม่เข้าไป คนชื่นชมก็วางไว้ คนนินทาก็วางไว้ ฝึกให้เห็นว่าอารมณ์ความคิดเหล่านี้ หากใจเราเข้าไปยึด สุดท้ายก็ไม่ดีทั้งนั้น
เพราะยึดข้างหนึ่ง อีกข้างก็จะตามมาด้วย เหมือนกำเหรียญไว้ในมือ ก็จะได้ทั้งหัวทั้งก้อยมาในคราเดียว
รักสุข ก็จะได้ทุกข์เป็นของแถมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในข้อนี้หากฝึกบ่อย ๆ นอกจากความโกรธแล้ว
ยังช่วยกำจัดลดทอนพลังความคิดด้านลบได้ทั้งหมด เช่น ความเศร้า ความเหงา ความเบื่อต่าง ๆ จิตใจจะเป็นกลาง หนักแน่นมากขึ้น
5. รู้จักอยู่ รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตน
คือให้รู้จักสังเกตตัวเอง หากเราโกรธใครบ่อย ๆ เวลาอยู่ใกล้ก็ให้ระวัง บางครั้ง กับคนบางคน ให้สังเกตดูเถิดว่า เราโกรธเขา โกรธคนคนนี้
จนกลายเป็นความเคยชิน เพียงเห็นหน้ายังไม่ทันทำอะไร ใจก็วูบ ๆไหว ๆ ความหงุดหงิดก็เริ่มเข้ามา ตรงนี้ควรหลีกเลี่ยงการปะทะ
ทั้งนี้ ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เช่น เป็นคนในครอบครัว เป็นสามีภรรยา เป็นลูก เป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนฝูง
อย่างนี้ก็ให้ยกเอาสิ่งที่เขาทำขัดใจเรา มาเป็นเครื่องมือในการฝึกใจของเรา ฝึกอภัย ดีกว่าปล่อยใจของเราให้ตกต่ำไป เพราะมัวแต่ทะเลาะกับเขา
ให้เอาความขัดแย้งนั้นมาบ่มเพาะความรัก เมตตา ขอให้เรารับทราบไว้ว่า โดยมากแล้วหากไม่ลงรอยกัน แต่มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน
ตัดกันไม่ขาด แยกกันไม่ขาด สิ่งนี้มักเกิดจากมีบุญกรรมสัมพันธ์ร่วมกันมานาน กลายเป็นแรงกรรมผูกพัน ผูกรั้งไม่ให้ไปไหน
อย่างนี้ยิ่งต้องรู้จักระวัง ระงับ สำรวม อย่าไปสร้างกรรมให้กันและกันเพิ่มขึ้น
ที่มา พศิน อินทรวงค์