Skip to content
น่าอ่าน
Menu
Menu

ใช้ชีวิตแบบคนจน แล้วคุณจะไม่มีวันจน อ่านแล้วดีมาก

Posted on 22 พฤษภาคม 2022 by น่าอ่าน

ประโยคง่าย ๆ สั้น ๆ “ใช้ชีวิตแบบคนจน แล้วคุณจะไม่มีวันจน” เป็นคำพูดที่คนสมัยก่อนมักใช้สอนลูกหลาน

คนสมัยก่อนจะประหยัด อาจเพราะเคยผ่านความลำบากมาก่อน แต่ที่จริงก็ไม่น่าจะแบ่งว่า เป็นคนสมัยก่อนหรือสมัยนี้ เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่า คนยุคใหม่เองก็มีไม่น้อยที่รู้จักใช้เงิน แบ่งเงินเก็บออม ไม่จำเป็นว่ามีมากต้องใช้มาก

เพียงแต่ด้วยความที่โลกเรา อยู่ในยุคของทุนนิยม ที่เน้นเรื่องของการบริโภคนิยมเป็นที่ตั้ง

ผู้คนเชื่อว่าความสุขจะเกิดขึ้นได้จากการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินหรือเที่ยว ก็เลยจัดกันเต็ม

ไม่มีแล้วสำหรับคำว่าลำบากก่อนสบายทีหลัง เพราะต้องการสบายตั้งแต่วันนี้เลย

ผู้คนในยุคนี้มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุข มากกว่าคนในอดีต นี่เป็นความจริงที่ทุกคนรู้ดี เพียงแต่บางครั้ง

เราต้องหยุดคิดหรือมีเบรกตัวเองไว้บ้าง การไปอ่านเจอประโยคที่เป็นข้อคิดหรือคติ ทำให้เราหยุด หันมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง

ว่ามีอะไรที่มากหรือน้อยเกินไป แล้วก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้น

เหมือนอย่างที่ชาวพุทธยึดเรื่องการเดินทางสายกลางน่าจะเป็นความสุขที่แท้จริงมากกว่า

บางคนที่ยังเรียกตัวเองว่า “ไม่มี” หรือ “จน” อาจเถียงว่า..

ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบจน ก็ถูกบังคับให้ต้องมีชีวิตแบบจน ๆ อยู่แล้วล่ะ ถ้าความคิดเริ่มต้นของคุณเป็นแบบนี้

แสดงว่าคุณไม่รู้ถึงความหมายเบื้องลึกเบื้องหลังของข้อความนี้ นำไปคิดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิต

มีบางคนบอกว่าเห็นคนเก็บขยะ เขากินอาหารถูก ๆ ใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ เขาก็ยังคงจนอยู่

ส่วนเจ้าของร้านทอง กินอาหารในภัตตาคาร ใส่เสื้อผ้าหรูราคาแพง ก็เห็นเขาก็ยังรวยอยู่

ถ้าคุณคิดแบบนี้ ก็แสดงว่าข้อความนี้ คงไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณจะเอาไปคิดต่อได้

ชีวิตคนเราจะแตกต่างกันก็อยู่ที่ ทัศนคติในการมองชีวิตที่แตกต่างนี้แหละ การเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

มีทัศนคติในเชิงบวกเท่านั้น ที่จะทำให้เราก้าวข้ามกำแพงที่มีอยู่ในใจของตัวเราเองได้

“ใช้ชีวิตแบบจน แล้วคุณจะไม่มีวันจน”

การใช้ชีวิตแบบคนจน ไม่ได้หมายถึงให้เราต้องไปตกระกำลำบาก กินอาหารราคาถูก ใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ

แต่หมายถึงเราต้องรู้จักเลือกกิน เลือกใช้ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่กินทิ้งกินขว้าง หรือมีข้าวของมากมายเกินความจำเป็น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เด็กที่จน เขาไม่มีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว จานอาหารที่วางตรงหน้าก็คือสิ่งที่เขาต้องทาน

แต่เด็กสมัยใหม่บางคน สั่งอาหารมาทานไม่หมด ถึงเวลาก็จะอ้อนสั่งอย่างอื่นใหม่ หากอยากสอนลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็คือต้องทานให้หมดเท่านั้นถึงจะสั่งใหม่ได้

เราต้องรับผิดชอบกับอาหารที่เราสั่งมา เด็กยุคใหม่หลายคนที่นั่งกินข้าวร้านอาหารตามสั่งไม่ได้มีเยอะมากค่ะ

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เหมือนกัน มีเท่าที่จำเป็นก็พอ แต่บางคนกลับมีรองเท้าตั้งหลายสิบคู่ในคราวเดียวกัน มันดูจะเยอะเกินไปไหม

การอยู่ในสังคม บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเห็นเพื่อนร่วมงาน คือคนร่วมสังคมที่มีฐานะแตกต่างกัน เขาใช้ของแบรนด์เนมราคาแพง

เราไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาของเหล่านี้มาเป็นเจ้าของให้ลำบาก เลือกที่จะเป็นและใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ที่เหมาะสมกับฐานะและรายได้ของเรา

ไม่สร้างหนี้ แล้วเราก็จะไม่มีวันจนจริง ๆ ถึงเราจะไม่ได้มีมากเท่าคนอื่น แต่มั่นใจได้เลยว่าเราจะไม่จนแน่ ๆ

การใช้ชีวิตแบบพอเพียงหรือในความหมายแบบจน ๆ นี่แหละ ที่จะบ่มเพาะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวของเราไป เราจะไม่รู้สึกว่าขาดอะไร

แต่เมื่อไหร่ที่เราได้อะไรมาเพิ่ม มันจะเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ ตรงกันข้าม ถ้าเราใช้ชีวิตเกิน ๆ อยู่ตลอด ถึงเวลาที่เราต้องขาด

มันจะเป็นความรู้สึกที่ดีได้อย่างไร เปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าเรากินอาหารในห้างทุกมื้อกับเลือกกิน 2-3 มื้อต่อสัปดาห์

มื้อไหนที่จะสร้างความสุข และความประทับใจให้เราได้มากกว่ากัน แถมเงินยังเหลือติดกระเป๋ามากกว่าอีกด้วย ไม่จน กรอบก่อนสิ้นเดือนแน่

ถ้าวางแผนให้ดี ๆ นี่เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ใครไม่เคยจนมาก่อน ก็คงยากที่จะรู้ว่าความจนมันน่ากลัวขนาดไหน

และนี่เองที่เป็นที่มาของสิ่งที่รุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เราพยายามสอนอยู่เสมอ แม้ว่าปัจจุบัน หลายคนจะต่อสู้

จนกลายมาเป็นคนร่ำรวยได้แล้วก็ตาม แต่ก็ให้ลูกหลานรู้จักประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยเป็นพื้นฐานไว้ก่อน

จากนั้นที่สำคัญคือ ต้องรู้จักคิดเพื่อต่อยอดสร้างความก้าวหน้าขึ้นไปให้ได้ ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตแบบคนจน ในความหมายที่ว่าคือ

ให้ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หามาได้ แบบนี้ไม่มีวันจนแน่ ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ใช้เงินมากเกินกว่าที่หามาได้ เรียกว่าใช้เงินแบบคนรวย ทั้งที่ไม่ใช่คนรวย

คุณก็จะอยู่แบบจน ๆ แบบนี้ และไม่มีวันเป็นคนรวยกับเขาได้ แม้ว่าเราจะเป็นคนยุคใหม่ที่หันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องของบริโภคนิยม

แต่อย่างไรก็ขอให้มีสติ รู้เท่าทันโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป รู้ว่าตัวเราเองกำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าเราอยู่ในฐานะไหน

รู้ว่าการใช้จ่ายของเรามากหรือน้อยเกินจำเป็น ให้สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่ติดตัวเราไป ไม่ว่าจะที่ไหน ๆ ในทุก ๆ วัน

ที่มา m o n e y h u b