1. คนที่ไม่รับฟังผู้อื่น
คนประเภทนี้ มักคิดว่าตัวเองเก่งและรู้ดีที่สุด จนขาดการรับฟังผู้อื่น เพราะมองว่าเสียเวลา และเข้าใจดีอยู่แล้ว
โดยลืมมองไปว่า การทำงานอาจต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
ทำใจเยอะๆ ปล่อยวางเชิงอารมณ์เยอะๆ ก่อนที่เราจะสื่อสารกับเขา และเตรียมข้อมูลที่จะสื่อสาร ให้แปลกและแตกต่าง จนเขาคาดไม่ถึง
และพร้อมรับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้น หากคนที่ไม่รับฟังเป็นหัวหน้างานเรา และเราได้นำเสนอข้อมูลไปให้พิจารณาแล้ว
หากเขาไม่ตัดสินใจ จงก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ในสิ่งที่ทำได้เต็ม 100% ต่อไป
หรือหากรู้สึก ไม่มีความสุขในการทำงานกับคนแบบนี้ ก็มองทางเลือกอื่นๆ ไว้บ้างครับ เพราะชีวิตไม่มีทางตัน
2. คนที่พูดไม่คิด
คนประเภทนี้ มักใช้อารมณ์เป็นใหญ่ มักจะพูดโดยไม่สนใจคนอื่น จนบางครั้งทำให้คนฟังเสียหาย
เสียใจ และเสียความรู้สึก และมักไม่รู้ตนเอง หรือหากรู้ตนเอง ก็กลับคำไม่ทันเสียแล้ว
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
อย่าไปเก็บคำพูดของคนเหล่านี้ มาทำให้ใจเป็นทุกข์ครับ ปล่อยวางได้ก็ควรปล่อยวาง และโฟกัสสิ่งที่ทำตรงหน้าให้ดีที่สุด
แม้เรื่องที่เขาพูดจะทำให้เราเสียใจ แต่ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขาพูดก็ควรพิจารณา นำไปปรับปรุงตนเองต่อไปครับ
3. คนที่ขาดสัมมาคารวะ
คนประเภทนี้มักไม่ค่อยยิ้ม ไม่ค่อยไหว้หรือให้เกียรติคนที่อาวุโสมากกว่า เพราะคิดว่าตนเองนั้นมีความสามารถ
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
ให้เกียรติคนเหล่านี้ก่อนครับ เพราะบางครั้ง เขาอาจต้องการให้คนอื่นมาให้เกียรติต่อตัวเขาก่อนก็ได้
ดังนั้น เราอย่าไปโต้แย้งในสิ่งที่เขาเป็น แต่ให้ใช้ใจแลกใจกับเขา เพื่อทำให้เขาเห็นว่า
การเคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ นับเป็นความงดงามที่ควรทำในองค์กร
4. คนที่มักกังวลตลอดเวลา
คนประเภทนี้มักขี้กลัวและไม่มั่นใจ เวลาที่ต้องทำสิ่งใหม่ๆ จนขาดการลงมือทำที่มากพอ
และไม่กล้าเสนอแนะความคิดเห็น ได้แต่รอคำสั่งให้ทำเพียงเท่านั้น
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
หากเรามีลูกน้องประเภทนี้ ควรให้กำลังใจและพร้อมรับฟัง ในการมอบหมายงานทุกครั้งควรถามก่อนว่า
สามารถทำงานได้ตามเวลาที่กำหนดหรือเปล่า ถึงแม้งานอาจจะเร่งด่วน แต่ต้องพร้อมให้โอกาสเขา
พูดถึงกรอบเวลาที่สามารถทำได้ รวมถึงการป้อนงานใหม่ๆ โดยค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปเร่งรีบมากเกินขอบเขต
5. คนเฉื่อย
คนประเภทนี้มักทำงานไปเรื่อยๆ ทำแบบเดิมๆ ถึงแม้จะมีวิธีการที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง
ขาดความมุ่งมั่น ทำงานค่อนข้างช้า ไม่สนใจว่าคนอื่นที่รับงานต่อจะเป็นอย่างไร ทำงานทันเวลาไหม เพราะส่งงานล่าช้าทุกที
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
ต้องทำใจเยอะๆ หากหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตนเองในทันที ที่คนประเภทนี้ไม่เปลี่ยนแปลง อาจเพราะขาดความรู้
ความเข้าใจในสิ่งใหม่ๆ การสนับสนุนให้เขาได้ไปเปิดโลก สร้างมุมมองใหม่ๆ เติมพลังให้ชีวิต นับว่าเป็นสิ่งที่ดี
โดยส่งไปอบรมภายนอกองค์กร หรือให้ลองทำงานใหม่ๆ อาจทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตนเองก็ได้ครับ
6. คนที่ชอบฆ่ าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน
คนประเภทนี้ค่อนข้างน่ากลัว ปากกับใจไม่ค่อยตรงกัน ไม่เคยมองคนอื่นในแง่ดี อิจฉาคนไปวันๆ
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
อยู่ห่างๆ จะดีที่สุด แต่หากต้องทำงานร่วมกัน ต้องยอมรับ และเน้นความเป็นมืออาชีพ คือประสานงานเท่าที่จำเป็น
ต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ กรณีที่คนประเภทนี้แกล้งเรา อย่าประมาทครับ และหากไม่ต้องทำงานด้วย ก็ควรอยู่ห่างๆ ไว้ ย่อมปลอดภัยที่สุด
7. คนที่ชอบกินแรงเพื่อน ไม่ค่อยทำงาน
คนประเภทนี้ไม่ค่อยชอบลงมือทำงาน แต่ชอบคุยโม้โอ้อวดไปวันๆ ว่าเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ พอจะทำงานก็หมดเวลา เลิกงานกลับบ้าน
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
พูดชื่นชมเกี่ยวกับความสามารถของเขา ให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและกล้าลงมือทำ ให้เห็นประจักษ์กับสายตาผู้อื่น
อย่าไปว่าเขาในแง่ร้าย คนพวกนี้ชอบต่อต้านครับ แรงมาก็อย่าไปแรงกลับ ควรผ่อนหนักเป็นเบาจะดีกว่าครับ
8. คนที่ชอบนินทาคนอื่น
คนประเภทนี้ วันๆ ไม่ค่อยทำงาน ชอบจับกลุ่มนินทาว่าร้ายคนอื่น มักจะชอบจับผิด ต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
หากเจอคนเหล่านี้ชวนคุย ก็คุยด้วยพอเป็นมารยาท ไม่ควรหลีกหนี แต่ก็ไม่ควรพูดสมทบ แค่รับฟังพอ
หรือถ้าไม่อยากเสียเวลาในการทำงานไปนั่งฟังเรื่องไร้สาระ ก็ปฏิเสธออกไป โดยอ้างงานเยอะ ต้องรีบสะสาง
แต่ต้องรู้จักพูดนะครับ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้รับรู้ว่า เราไม่อยากฟัง
9. คนที่ชอบเงียบ ไม่ค่อยสื่อสารกับคนอื่น
มาถึงประเภทสุดท้ายแล้วนะครับ คนประเภทนี้มีนิสัยที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใครในออฟฟิศ
เวลาทำงาน หากรับเรื่องมาก็เงียบเหมือนเดิม ไม่แจ้งความเคลื่อนไหวให้คนที่ประสานงานรู้ ว่างานไปถึงไหนแล้ว
ส่งอีเมล์ไป ก็ไม่เคยตอบกลับ รับปากว่าจะทำ แต่ก็เงียบเหมือนเดิม
วิธีการรับมือกับคนแบบนี้
หากต้องประสานงานกับคนที่ชอบเงียบนั้น เราควรติดต่อสื่อสาร 2 ทาง โดยการส่งอีเมล์ไปแจ้งข้อมูล และจากนั้นควรโทรหา
หรือเดินไปพูดคุยกับคนประสานงาน ถึงงานที่แจ้งไป เพื่อพูดคุยมากกว่ารอการตอบกลับผ่านอีเมล์เพียงอย่างเดียว
การส่งอีเมล์เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลเชิงลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานในการประสานงาน
แต่ก็ไม่เท่ากับการพูดคุยกัน เพื่อรับฟังข้อมูลกลับจากผู้รับสาร เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานนะครับ
ที่มา Junjaonews