โรคชอบเปรียบเทียบ
การเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เรามักจะอยากรู้ว่าคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนฝูงของเราได้ดิบได้ดีไปถึงไหนแล้ว
ตอนนี้เขาขับรถอะไร ได้ตำแหน่งระดับไหนแล้ว ลูก ๆ ของเขาเรียนโรงเรียนอะไร สอบเข้าอะไรได้ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับตัวเราเองว่า
เราดีกว่าหรือด้อยกว่า และก็เป็นธรรมดา ที่ใคร ๆ ก็อยากจะดีกว่าคนอื่น แต่หลายครั้ง การเปรียบเทียบทำให้เราเกิดความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น
ความรู้สึกแบบนี้มักเกิดเมื่อ…
เราเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีดีมากกว่าเรา โดยเฉพาะเป็นการมีในสิ่งที่ เราอยากมีแต่ยังไม่มี หรือยังมีไม่พอ
โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่า คนคนนั้นเป็นคู่แข่ง เช่น เราคงไม่รู้สึกด้อยกว่า เวลาได้ข่าวนักเรียนไทยได้เหรียญทองชีวะโอลิมปิค
เราชื่นชมว่าเขาเก่ง แต่ความรู้สึกอาจต่างกัน ถ้านักเรียนคนนั้นเป็นลูกของญาติเรา และเรียนชั้นเดียวกับเรา
เราเปรียบเทียบตัวเราในปัจจุบันกับอดีตที่เคยรุ่งโรจน์
แต่ก่อนเราอาจจะเป็นนักกีฬาที่เก่งกาจ แต่เดี๋ยวนี้ร่างกายอาจจะไม่ไหวแล้ว
แต่ก่อนเราอาจเคยเรียนเก่งมาก แต่เดี๋ยวนี้ด้วยปัญหาต่าง ๆ ทำให้เราเรียนได้แค่ปานกลาง
แต่ก่อนเราเคยมีเงินมากมาย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้เรามีหนี้มากมาย ถ้าเราหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องเหล่านี้
เราก็จะรู้สึกแย่ รู้สึกว่าเรากำลังตกอับ และมักจะคิดไปเองว่า คนอื่นก็มองว่าเรากำลังตกอับด้วย
เราเปรียบเทียบปัจจุบันกับความฝันที่ยังไม่เป็นจริง
เช่น อยากมีบ้านสวย ๆ แต่ก็ยังไม่มีสักที ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่น
หลายครั้งเราก็อยู่ของเราดี ๆ แต่คนอื่นชอบเอาเราไปเปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่ง แล้วก็มาตัดสินว่าเราด้อยกว่า และมาพูดให้เราได้ยินด้วย
เช่น บรรดาแม่ ๆ มักจะเอาลูกของคนอื่นที่เรียนเก่ง มาเปรียบเทียบกับลูกของตัวเอง แล้วบ่นให้ลูกฟัง
เพราะหวังจะกระตุ้นให้ลูกเกิดความมานะ เอาอย่างคนเก่ง ๆ แต่อาจได้ผลตรงกันข้าม ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น
บางครั้ง การที่คนอื่นเอาเราไปเปรียบเทียบ แล้วมาพูดให้เราได้ยิน อาจเป็นการเหน็บแนม ไม่ใช่ความหวังดีแบบนี้ก็ได้
การเปรียบเทียบนั้น บางครั้งก็ช่วยให้เราพัฒนาตนเองขึ้นมา ถ้าเรารู้สึกด้อยกว่า แล้วเราพยายามปรับปรุงตนเอง
หรือเมื่อเราอยากเป็นแบบบุคคลที่เราชื่นชม แล้วพยายามพัฒนาตนเอง หรือพยายามเอาชนะคำสบประมาทของคนอื่น
แต่ถ้าการเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้ เลิกพยายามต่อ หรือเกิดความคิดหาทางกลั่นแกล้งทำลายคู่แข่ง
แทนที่จะพยายามปรับปรุงตนเอง หรือยอมทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อให้มีอย่างคนอื่นเขา แบบนี้ท่าทางเราจะเกิดภาวะการเปรียบเทียบที่เป็นพิษเสียแล้ว
ถึงแม้การที่เราด้อยกว่าคนอื่นจะเป็นความเจ็บปวด แต่การเปรียบเทียบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เกินจริง และเป็นไปในแง่ลบนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่า
ดังนั้น เมื่อรู้สึกตัวว่า เรากำลังเจ็บปวดจากการเปรียบเทียบอยู่ ให้ลองถามตัวเองว่า กำลังเปรียบเทียบอะไร เช่น ความสวย ความเก่ง
ความรวย ความเด่นดัง ฯลฯ เพราะบางครั้งเราจะ “มึน” แยกประเด็นไม่ออก แล้วสรุปรวมว่า ตัวเราโดยรวมทั้งหมดนั่นแหละที่ด้อย
สู้เขาไม่ได้ ข้อมูลแม่นแค่ไหน รู้แน่หรือเดาเอา เพื่อนเราไปเรียนเมืองนอกเพราะเก่ง หรือเพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมืองไทยไม่ได้
เรารู้หมดทุกแง่ทุกมุมหรือยัง หรือเห็นแต่แง่ดีของเขาเพียงด้านเดียว เวลาเห็นคนที่ร่ำรวย เรามักคิดว่าเขาคงจะมีความสุข
ที่จริงแล้ว คนที่ร่ำรวยก็ใช่ว่าจะต้องมีความสุขเสมอไป คนที่มีแฟนแล้วหรือคนที่ “ขายออก” แต่งงานแล้ว
ก็ใช่ว่าจะมีความสุขมากกว่าสาวโสด คนที่มีเงินเหลือเก็บมากเพราะประหยัดมาก ๆ ก็ไม่น่าจะมีความสุขเท่าไร
เมื่อพิจารณาความเป็นจริงแล้ว ลองคิดต่อไปว่า เขาดีกว่าเราแล้วมันจะเป็นอะไรไป ถึงเขาจะมีเงินมากกว่าแต่เราก็ยังมีเงินเท่าเดิม
เงินที่เรามีอยู่มันไม่ได้หดหายไป ถึงคนข้างบ้านจะสวยกว่าเรา มันก็ไม่ได้ทำให้เราสวยน้อยลง เราก็ยังคงเป็นคนสวยคนหนึ่งเหมือนกัน
ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เราพร้อมที่จะแลกด้วยอะไรบางอย่าง เหมือนที่เขาทำหรือไม่ เพื่อนของเราอาจจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ
จนไม่มีเวลาดูแลลูก ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาไปว่ายน้ำหลังเลิกงาน จึงมีเงินขนาดนั้นได้ เราจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่
เปลี่ยนวิธีเปรียบเทียบเสียใหม่ แทนที่จะจมอยู่กับความสิ้นหวังต่อไป เราอาจเปลี่ยนวิธีเปรียบเทียบเสียใหม่
โดยเปรียบเทียบตัวเราตอนนี้กับตัวเราในอีก 1 ปีข้างหน้า ถ้าเราลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น ออกวิ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
1 ปีผ่านไปเราน่าจะหุ่นดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ดีขนาดคนข้างบ้านก็ตาม การเปรียบเทียบจะเป็นปัญหา เมื่อมันไม่สมเหตุสมผล
มากเกินไป บ่อยเกินไป ลดการเปรียบเทียบลง แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น
ที่มา เว็บไซต์ กรมสุขภาพจิต