“แก่แล้ว พี่ไม่คิดเยอะ ไม่ถืออะไรแล้ว เหนื่อย” ประโยคสนทนาง่าย ๆ แต่ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า
ยิ่งนานวันเข้า ความสุขในชีวิตยิ่งลดลง เพราะมัวแต่ใช้ไปกับเรื่องหรือคนที่ทำให้เราทุกข์
มันน่าจะดีถ้าหากยิ่งโตขึ้นไปพร้อม ๆ กับความสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย จริงไหมคะ
“ต้นเหตุของการทุกข์ คือความคิดของเราเอง” เคยได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ และรู้สึกเสมอว่าเป็นเรื่องจริง
ความฟุ้งซ่านทั้งหลายมันเกิดจากความคิดในหัวเราเองล้วน ๆ เลยนะคะ ยิ่งเป็นคนชอบคิดมาก คิดเล็กคิดน้อย
คิดเรื่องเดิม ๆ วนไปวนมา ยิ่งทำให้ไม่มีความสุข เพราะมัวแต่จมดิ่งอยู่กับเรื่องไม่กี่เรื่อง ต่อให้คนอื่นจะพูดจะทำสิ่งที่ไม่ดีกับเรา
เหตุการณ์เหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นและจบลงแล้ว แต่ความคิดนี่แหละ ที่เป็นตัวยืดเยื้อให้ความขุ่นมัวยังคงอยู่ในใจ
ว่ากันว่าคนคิดมากมักมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ คิดมากในเรื่องที่ผ่านไปแล้ว กับ คิดมากกับเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิด
แต่ถ้าเรารู้ว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ แต่เราควบคุมความคิดตัวเองได้ เท่านี้ก็จะทำให้ปล่อยวางอะไร ๆ ง่ายขึ้นค่ะ
มาปรับตัวเองให้คิดมากน้อยลง และโฟกัสกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขเยอะ ๆ กันดีกว่า
อย่างแรกคือต้อง “ปรับที่ใจ” ก่อน เพราะจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจที่ไม่สบาย นำไปสู่กายที่ไม่สบายด้วย
1. รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร
การรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะนำไปสู่การรับมือได้อย่างถูกต้อง
ทุกข์ก็รู้ว่ากำลังทุกข์ เสียใจก็รู้ว่ากำลังเสียใจ คิดมากก็ต้องรู้ตัวว่ากำลังคิดมาก ทำความเข้าใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
เพราะเหตุใดถึงย้ำคิดอยู่อย่างนั้น จะได้จัดการความรู้สึกได้อย่างถูกต้อง บ่อยครั้งที่ความรู้สึกจบลงไปแล้ว แต่ความคิดในหัวเรายังไม่หยุดนิ่ง
นึกถึงเรื่องเก่าซ้ำ ๆ จนหมองหม่น ไม่เป็นอันทำอะไร แบบนี้ยิ่งต้องมีสติ รีบตามความคิดให้ทัน พยายามรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่หากลองฝึกใจ ฝึกอารมณ์ ฝึกความคิดไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะตามความคิดตัวเองทัน พอรู้ทัน ก็หยุดได้ ยับยั้งได้
2. ช่างมันให้เป็น
ต้องฝึกเป็นคน “ช่างมัน” ให้เยอะ ๆ เรื่องบางเรื่องคิดมากไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ทำได้แค่เพียงปล่อยวางความคิดเหล่านั้นลง
ทิ้งมันไป ช่างมัน อย่างที่บอกว่า เรื่องบางเรื่องเราก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คิดเท่านี้ก็เบาใจไปได้เยอะ
3. อยู่กับปัจจุบัน
ตามที่กล่าวว่าคนคิดมาก คือ คิดยึดติดกับอดีต และคิดกังวลเรื่องอนาคต ซึ่งทั้งคู่ เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว
แต่การอยู่กับปัจจุบันคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันคือตัวกำหนดทุกสิ่ง ถ้าทำทุกวันให้ดีสุดความสามารถ ก็ไม่มีอะไรต้องคิดเยอะอีกแล้วล่ะ
4. เซ็ตลิมิตของการคิดมาก
สุดท้ายแล้วเมื่อหยุดคิดมากไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีสติ กำหนดขอบเขตให้ตัวเองว่า เราจะต้องคิดเรื่องนี้แค่เท่านี้ นานไปกว่านี้จะเป็นบ้าเอา
ไม่มีใครดึงสติเราได้เท่าตัวเราเองหรอกค่ะ พอหมดเวลาก็หยุดคิด ไปทำอย่างอื่น ไปใช้ชีวิตประจำวันให้สนุกดีกว่า
ต่อมาก็ลอง “ปรับที่กาย” หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มักจะทำแล้วก่อให้เกิดเจ้าอาการคิดมากนี้
5. ทำตัวให้ยุ่ง ๆ เข้าไว้ แล้วจะดีเอง
หากิจกรรมทำ เพื่อให้ตัวเองไม่อยู่เฉย พอมีอะไรทำ ความคิดความรู้สึกก็จะไปโฟกัสที่สิ่งอื่นแทน
หาเรื่องผ่อนคลายความเครียดเสียบ้าง กินอาหารอร่อย ๆ ดูหนัง ฟังเพลง ออกไปเที่ยวที่ใหม่ ๆ
หรือแม้แต่ทำงานหนัก ๆ ก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ เพื่อเบี่ยงเบนความคิดไปเรื่องอื่น ไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ทำให้คิดมาก
เพราะหากเรามัวแต่อยู่กับสิ่งเดิม บรรยากาศเดิม จะทำให้ความคิดยิ่งฟุ้งซ่านเข้าไปใหญ่ เชื่อเถอะ ใช้วิธีนี้เวิร์คมานักต่อนักแล้ว
6. ระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง
ในห้วงอารมณ์ที่คิดมากจนเครียด การได้ระบายออกมาคือเรื่องที่น่าสนใจ แม้อาจจะไม่ใช่การแก้ตรงจุดกำเนิดของปัญหา
แต่ก็ช่วยบรรเทาความปวดหัวลงไปได้มากทีเดียว เพราะการเล่าให้ผู้อื่นฟัง จะช่วยให้เรามองเห็นต้นตอของเรื่อง
มองเห็นตัวเอง และได้รับมุมมองที่แตกต่างออกไปจากคนอื่น หากเรายิ่งคิดมาก ยิ่งเก็บไว้คนเดียว
ยิ่งเหมือนไฟสุมทรวงรอวันระเบิดตูมออกมา เมื่อถึงวันนั้นอาจจะทำลายความสัมพันธ์กับคนอื่นให้แย่ลงกว่าเดิม
สู้ระบายความเครียดออกมาแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า จะได้เร่งหาทางออกที่เหมาะสมกับตัวเราได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มคิดมากในเรื่องใดเรื่องนึงนานเกินไปแล้ว รีบถอนตัวออกมาดีกว่าค่ะ เพราะการคิดมากไม่ใช่เรื่องดี
ยิ่งนานวันอาจก่อให้เกิดผลพวงร้าย ๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ
ที่มา today line