โรคทิ้งของไม่ลง ชอบเก็บสะสมสิ่งของ หรือที่เรียกว่า Hoarding Disorder ถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา
อาการคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างเอาไว้ ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งไหนได้เลย โดยแรงจูงใจที่ทำให้อยากเก็บของนั้นไว้
คือ คิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ สามารถเก็บไว้ใช้งานในอนาคตได้ เก็บจนรกบ้าน หรือกินพื้นที่ใช้สอยในบ้านไปหมด
จนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและผู้อื่น ลองมาสำรวจกันว่า เรามีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้หรือเปล่า
1. ทิ้งถ่านไฟฉายเก่าไม่ลง
เชื่อว่าบางคนอาจเคยเป็น การที่ซื้อถ่านไฟฉายมาใช้ แต่เมื่อใช้จนถ่านหมดแล้ว ก็ยังเก็บถ่านไฟฉายไว้ เพราะคิดว่า
สักวันคงได้เอากลับมาใช้งานอีก (แต่ก็ไม่เคยได้เอามาใช้จริง ๆ) ถึงแม้จะเคยได้ยินว่า มีวิธีต่ออายุให้ถ่านไฟฉาย สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
แต่สุดท้ายก็ไปซื้อก้อนใหม่มาใช้เหมือนเดิม พอหันกลับไปมอง ก็เห็นมีอยู่หลายก้อนเป็นกองขยะ รกบ้านไปซะแล้ว
2. ทิ้งแปรงสีฟันเก่าไม่ลง
สำหรับแปรงสีฟันที่ใช้ไปนาน ๆ เริ่มเก่า ได้เวลาเปลี่ยนแปรงใหม่แล้ว แต่เมื่อซื้อแปรงใหม่มาใช้ กลับไม่ยอมทิ้งแปรงเก่าไป
เพราะคิดว่าจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น เอาไว้ขัดซอกเล็ก ๆ ที่สกปรกในห้องน้ำ
หรือไว้ทำความสะอาดอะไรสักอย่างในอนาคต แต่คุณเคยนับไหมว่า ได้เอามาใช้งานจริง ๆ สักกี่ครั้ง
3. ทิ้งหนังสือเรียนเก่าไม่ลง
หลายคนชอบเป็น กับการรู้สึกเสียดายของ อย่างหนังสือเรียนเก่า ๆ ที่เรียนจบไปแล้ว แต่ก็ยังเก็บไว้เต็มบ้าน จะทิ้งก็เสียดาย
คิดแต่ว่าสักวันคงได้เอาออกมาอ่านอีก ความรู้ทั้งนั้นจะทิ้งไปได้ไง สุดท้ายก็กองเต็มบ้านเป็นภูเขา และไม่เคยได้เอากลับมาอ่านอีกสักที
4. ทิ้งรองเท้าเก่า ๆ ไม่ลง
รองเท้าคู่เก่า ที่ชำรุดจากการใช้งานหนัก หรือมีตำหนินิดหน่อย แต่ก็ยังใส่ได้อยู่ (ถึงจะไม่เคยได้เอามาใส่อีกก็เถอะ)
กลับเก็บไว้เต็มตู้รองเท้า เน่าบ้างดีบ้าง ปนกันมั่วไปหมด เพราะคิดว่าคงเอากลับมาซ่อม และได้ใช้งานอีกครั้ง (แต่ก็ไม่ซ่อมสักที)
5. ทิ้งกล่องกระดาษไม่ลง
คิดว่าหลายคนต้องเป็นแน่ ๆ เวลาที่มีคนซื้อของขวัญห่อใส่กล่องมาให้ หรือเวลาที่สั่งของทางออนไลน์
แล้วเขาส่งของห่อใส่กล่องมา เมื่อแกะของออกมาแล้ว ก็นึกเสียดายกล่อง กะว่าจะเก็บไว้เผื่อได้ห่อของขวัญให้ใครอีก
จะได้ไม่ต้องไปหากล่องใส่ให้ยุ่งยาก เก็บไว้จนล้นห้อง แต่ก็ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์อย่างที่คิดไว้
ที่จริงแล้วโรคทิ้งของไม่ลง ผู้ป่วยจะไม่สามารถแยกแยะหมวดหมู่สิ่งของได้เลย จนเก็บของทุกอย่างปะปนกันมั่วไปหมด
แต่หากคุณมีอาการเสียดายสิ่งของ 1 ใน 5 ประเภทนี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ในอนาคตคุณอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทิ้งของไม่ลงได้เช่นกัน
โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดพฤติกรรม และปรับความคิดใหม่ สอนให้ผู้ป่วยลำดับความสำคัญของสิ่งของ และอธิบายด้วยเหตุผล
ที่มา อ่านสนุก