สามีภรรยาคู่หนึ่ง รับจ้างเลี้ยงปลาให้กับเถ้าแก่ เถ้าแก่จ่ายเงินเดือนให้คู่นี้เดือนละ 5,000 บาท
บ้านพัก ข้าวสารอาหารแห้ง และของใช้ เถ้าแก่เป็นผู้จัดหามาให้ เขาทั้งสองคนมีหน้าที่ให้อาหารปลาวันละ 2 รอบ
รอบเช้าหนึ่งรอบ และรอบเย็นอีกหนึ่งรอบ นอกเหนือจากนั้น แล้วแต่สองสามีภรรยา ว่าจะจัดการกับชีวิตอย่างไร
เถ้าแก่ไม่ได้จำกัดกับชีวิตส่วนตัวของลูกน้อง เขามาที่บ่อเลี้ยงปลาเพียงแค่ต้นเดือน กลางเดือน และปลายเดือน
ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องนำอาหารปลา และข้าวของเครื่องใช้มาให้ลูกน้อง อีกทั้งถือเป็นการมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ
เมื่อผ่านไป 2 ปี ปลาในบ่อทำกำไรให้เถ้าแก่ 4 แสนบาท เถ้าแก่ดีใจเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงนำเงิน 1 หมื่นบาท มอบให้ลูกน้อง
เพื่อเป็นกำลังใจ และอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดได้ 1 เดือน ส่วนค่าเดินทางก็มอบให้อีกจำนวนหนึ่ง
เมื่อภรรยาของเถ้าแก่รู้เข้า ก็โมโหเห็นอย่างยิ่ง “คุณจะบ้าเหรอ เงินเดือนก็จ่ายเต็มที่ บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ
นี่ยังแถมทั้งเงินเหมื่น และเงินค่ารถอีก ทำอะไรทำไมไม่ปรึกษาฉันก่อน” เถ้าแก่ได้แต่หัวเราะ แล้วบอกกับภรรยาว่า
“ผมจะเล่าอะไรให้คุณฟัง.. มีหมู่บ้านหนึ่งชาวบ้านต่างมีอาชีพปลูกลูกพลับ เมื่อถึงฤดูหนาว พวกเขาพากันเก็บลูกพลับ
จนไม่เหลือคาต้นไว้แม้แต่ลูกเดียว มีปีหนึ่งที่อากาศหนาวมากเป็นพิเศษ หิมะก็ตกมากกว่าทุกปี
นกสาลิกาจำนวนสองสามร้อยตัว หาอาหารกินไม่ได้ พากันหนาวตา ย ภายในคืนเดียว เมื่อฤดูใบไม้ผลิของอีกปี
ต้นพลับก็ผลิใบใหม่ออกมา เมื่อมันเริ่มออกดอก ไม่รู้ว่าหนอนมาจากไหนจำนวนมากมาย พากันกัดกินทั้งดอก และใบของต้นพลับ
จนเกิดความเสียหายอย่างมาก ส่วนลูกพลับที่เล็ดรอดมาได้ พอโตสักนิ้วก้อย ก็ถูกหนอนเหล่านั้นกัดกินไปจนหมด
ชาวบ้านต่างก็พากันคิดถึงนกสาลิกา หากยังมีนกสาลิกาอยู่ หนอนเหล่านี้ก็คงจะไม่นำภัยมาให้..”
“จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวลูกพลับ ชาวบ้านก็จะเหลือลูกพลับคาไว้บนต้น เพื่อให้เป็นอาหารของนกสาลิกาในหน้าหนาว
ลูกพลับสีเหลืองแสด ดึงดูดให้นกสาลิกาจำนวนมากมาจิกกินในฤดูหนาว นกสาลิกาก็แสนรู้คุณ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ
ก็ไม่ยอมบินจากไป คอยจัดการกับหนอนที่มารังควานต้นพลับ จากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านก็มีลูกพลับอุดมสมบูรณ์ทุกปี”
“ผมเหลือลูกพลับไว้ให้นกสาลิกากิน คุณว่าผมโง่เหรอ” เมื่อภรรยาได้ฟังจบ ก็เข้าใจในทันที
จุดหมายที่เหลือลูกพลับไว้บนต้น ก็เพื่อแบ่งปันให้กับนกสาลิกาได้อยู่รอด การดูแลให้สวัสดิการแก่ลูกน้อง
ก็เพื่อให้ลูกน้องรู้ว่า เถ้าแก่สำนึกคุณพวกเขา เช่นกัน คุณได้มากคุณก็ให้ลูกน้องมากตาม เท่ากับคุณได้ให้ตัวคุณเอง
ที่มา เรื่องดี ๆ มีข้อคิด