ช่วงปีนี้ผมชอบสังเกตลมหายใจผู้คน มีอะไรมากมายอยู่ในเสียง และจังหวะการหายใจ เราสามารถ “รู้ใจ” คนผ่านลมหายใจได้เลยทีเดียว
ที่ว่ารู้ใจ คือรู้คุณภาพจิตใจและหัวใจ เวลาได้ยินบางคนหอบแรง ทั้งที่ทำกิจกรรมปกติ อย่างลุกขึ้นเดินช้า ๆ หรือขยับตัวเบา ๆ
ถ้าสนิทกัน ผมจะชวนออกกำลังกาย เพราะการหอบง่ายนั้นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ ผมพบว่า คนสุขภาพดี
จะมีลมหายใจที่ “เดินเรียบ” ตัวอย่างชัดเจนคือ ตอนวิ่งตีคู่ไปด้วยกัน เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงลมหายใจของคนที่ฟิตกว่าเลย
ในสปีดเท่ากัน จะมีคนที่หายใจแรงกว่าเสมอ นั่นหมายความว่าหัวใจของเขากำลังทำงานหนัก และเขาอาจไม่ค่อยได้ขยับให้มันทำงานถึงระดับนี้
ในการวิ่งระยะไกล ถ้าตีคู่ไปด้วยกันแล้วคนหนึ่งหายใจแรง เป็นอันรู้กันว่า ในที่สุดคนหายใจเรียบกว่าจะทิ้งหายไป เพียงแค่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง
อีกสถานการณ์ที่ชัดคือตอนขึ้นเขา เราจะได้ยินเสียงหอบ หรือหายใจแรงของใครสักคนชัดเจนมาก นั่นคือสัญญาณว่า
ร่างกายเรียกร้องให้เราดูแลมันมากขึ้น ทั้งการกิน นอน และออกกำลังกาย แต่ถ้ายังไม่ต้องไปขึ้นเขา หรือลงแข่งวิ่งที่ไหน
ลำพังถ้าขึ้นบันไดแล้วหอบแรง ก็ได้เวลาดูแลตัวเองแล้ว ใช่.. บันไดเดียวกับที่เราเคยวิ่งขึ้นทีละสองขั้นตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ นั่นแหละ
แต่ลมหายใจไม่ได้บอกแค่ความแข็งแรงของหัวใจเท่านั้น มันยังบอกความมั่นคงของจิตใจด้วย เราสามารถรับรู้อารมณ์ผู้คนได้จากลมหายใจ
บางคนบอกไม่โกรธแต่หายใจแรง บางคนบอกไม่เครียดแต่หายใจถี่กระชั้น ถ้าสังเกต เราจะ “อ่านใจ” ได้ประมาณหนึ่ง
คนที่จิตใจมั่นคง มักมีลมหายใจสม่ำเสมอ ลึก ยาว เรียบนิ่ง เป็นภาวะปกติของเขา เช่นกันกับคนหัวใจแข็งแรง
เวลาอยู่ใกล้กัน เราแทบไม่ได้ยินเสียงลมหายใจของเขาเลย บางการฝึกฝน สร้างนิสัยหายใจลึกและสม่ำเสมอ
เช่น ไทเก๊ก โยคะ หรือการภาวนา คนหายใจยาวมักมีคลื่นสมองที่ผ่อนคลาย พร้อมเรียนรู้ เปิดกว้าง และมีอารมณ์ขัน
ตรงข้ามกับคนหายใจถี่กระชั้นที่มักเคร่งเครียด และอารมณ์รุนแรงกว่า กิจกรรมนำมาซึ่งนิสัยและพฤติกรรม
การฝึกหายใจยาวทำให้ออกซิเจนเลี้ยงสมองได้ดีกว่า แต่ของแถมที่ได้มา(ซึ่งอาจสำคัญกว่าออกซิเจน) คือ “สติ”
สติทำให้เราเท่าทันชั่วเวลาที่ลมหายใจเปลี่ยนแปลง เช่น มันเริ่มแรง สั้น กระชั้น ถี่
แน่ล่ะ.. ปุถุชนย่อมมีช่วงเวลาแบบนั้นเป็นธรรมดา ข้อต่างคือ คนที่ชินกับการหายใจยาวจะรู้ตัวเร็วกว่า ทำให้อารมณ์โกรธ เกลียด
เครียด เศร้า ถูกมองเห็นเร็วขึ้น ลมหายใจลึก ยาว ผ่อนคลาย จึงเป็นลมหายใจที่มีคุณภาพ สะท้อนจิตใจที่มีคุณภาพด้วย
เวลาอยู่ใกล้ใคร ผมชอบสังเกตลมหายใจ มันพอจะบอกกับเราได้ว่าใคร “ใจดี” ซึ่งของแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด
มันอาศัยการฝึกฝน ไม่หอบง่าย ก็ใจดี แปลว่าดูแลตัวเองดี กิน นอน ออกกำลังกายพอเหมาะ มักนำมาซึ่งอารมณ์แจ่มใส
และพอใจกับตัวเอง ไม่หงุดหงิดง่าย มีพลังงานดี ๆ ให้คนอื่น หายใจลึกและยาว ก็ใจดี แปลว่าจิตใจมั่นคง
ไม่หวั่นไหวไปกับสภาพแวดล้อมง่ายเกินไป มีสติรู้ทันอารมณ์ตนเอง จึงไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ขุ่นมัว มีรักและเมตตาให้คนอื่นได้ง่ายกว่า
แน่ล่ะว่า ในคนเดียวกันย่อมมีความไม่สม่ำเสมอของบุคลิก แต่ในภาพรวม คนใดหรือวันใดมีลมหายใจที่ “เดินเรียบ” ก็น่าจะอยู่ในสภาวะ “ใจดี”
สังเกตทั้งคนอื่นและตัวเอง ซึ่งคนที่สำคัญและเปลี่ยนแปลงได้คือ ตัวเรานี่แหละ
ที่มา Roundfinger