Skip to content
น่าอ่าน
Menu
Menu

4 นิสัยแย่ ๆ ที่พ่อแม่สร้างให้ลูก โดยไม่รู้ตัว

Posted on 2 มีนาคม 20222 มีนาคม 2022 by น่าอ่าน

ก่อนเริ่มต้นสอนหรือปลูกฝังอะไรแก่เด็ก พื้นฐานที่จำเป็น เปรียบเสมือนการเตรียมดินที่ดี เพื่อให้ต้นไม้ได้งอกงาม

คือการให้ความรัก ความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่แนบแน่น ระหว่างพ่อแม่และเด็กได้

สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัย 0-3 ปี หากกระบวนการนี้เป็นไปด้วยดี เด็กจะมีการพัฒนาของเซลล์สมอง

และเส้นใยประสาทอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ทั้งร่างกายและจิตใจ การสร้างความผูกพันทางจิตใจที่แนบแน่นนี้

ควรเริ่มสร้างตั้งแต่ตั้งครรภ์ พ่อแม่ควรมีอารมณ์แจ่มใส เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว พ่อแม่ควรมีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ด้วยอารมณ์ที่แจ่มใส

ให้ความรักความเอาใจใส่กับลูกสม่ำเสมอ จะทำให้สร้างสัมพันธภาพทางจิตใจ ที่แนบแน่นกับเด็กได้ดี

เด็กที่มีความผูกพันทางจิตใจที่แนบแน่นกับพ่อแม่ จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก เห็นคุณค่าของตน

สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ และสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดี ปัญหาที่พบบ่อยของเด็กในยุคปัจจุบัน

ที่ทำให้พ่อแม่หนักใจ และมาปรึกษาหมอบ่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรตระหนัก และให้การดูแลปลูกฝังอย่างเหมาะสม มีดังนี้

1. การเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว

มักพบสาเหตุมาจากพ่อแม่และผู้ดูแล หากพ่อแม่มีอารมณ์เหวี่ยงง่าย ขี้หงุดหงิด ใช้อารมณ์ดุว่า และทำโทษเด็กอย่างไม่เหมาะสม

จะส่งผลให้เด็กเครียด เก็บกด และเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวได้ เช่น หมอเคยพบเด็กบางคน ที่ครูขอให้แม่พามาพบแพทย์

ด้วยพฤติกรรมหยิกครู และเพื่อนร่วมชั้นเวลาหงุดหงิด แม่ก็กลุ้มใจที่เด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว แต่พอสอบถามรายละเอียด พบว่า

แม่เองก็มักหงุดหงิดง่าย และลงโทษเด็กด้วยวิธีการหยิกเช่นกัน เด็กจึงเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว จากการกระทำของแม่ไปใช้กับคนอื่น

พ่อแม่ควรมีเวลาดูแลลูก และไม่ควรใช้สื่อเป็นเครื่องมือเลี้ยงลูกแทนตนเอง โดยเฉพาะเด็กวัย 0-2 ปี

พ่อแม่ควรดูแลด้วยการชวนคุย เล่นกระตุ้นพัฒนาการ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเสพสื่อเพียงลำพัง เพราะจะทำให้เด็ก

เลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากสื่อ ที่มีเนื้อหาก้าวร้าวได้ นอกจากนี้ เด็กจะขาดการกระตุ้น และมีพัฒนาการที่ล่าช้าได้

2. พฤติกรรมงอแง เอาแต่ใจมากเกินไป

เด็ก 0-3 ปี เป็นวัยที่มักงอแงเอาแต่ใจง่าย หากพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไป เช่น ลูกร้องไห้อยากได้ของเล่น หรือสิ่งต่าง ๆ

พ่อแม่ก็จัดหาให้ตลอด โดยไม่มีกรอบกติกา เด็กจะเรียนรู้ว่าการร้องงอแง ทำให้พ่อแม่ใจอ่อนและตามใจ เด็กจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจ

ดังนั้น การดูแลเด็กในวัยนี้ ควรมีการวางกรอบกติกาที่เหมาะสม เช่น พ่อแม่ควรตกลงกับเด็กว่าใน 1 สัปดาห์

เด็กจะมีสิทธิ์ได้รับของเล่น หรือสิ่งต่าง ๆ ได้กี่ชิ้น และพยายามกำกับดูแลให้เด็กทำตามกติกาที่ตกลงกัน

โดยไม่ใจอ่อนตามความงอแงของเด็ก เมื่อเด็กทำได้ตามกติกา พ่อแม่ก็ให้แรงเสริมโดยแสดงความชื่นชม

สิ่งนี้จะช่วยสอนให้เด็กรู้จักระงับความอยาก ความงอแงที่เกินพอดี และทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะทำตามกติกาได้

การเลี้ยงลูกอย่างมีกรอบกติกา เปรียบได้กับการตกแต่งกิ่งต้นไม้ ให้แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ระเกะระกะ

3. เด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ตามวัย

มักพบบ่อยในครอบครัวที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยง คอยทำอะไรทุกอย่างให้ โดยไม่เปิดโอกาส

ให้เด็กได้ฝึกทักษะที่จำเป็นตามวัย เช่น เด็กวัย 2 ปี จะสามารถจับช้อนได้เอง พ่อแม่อาจค่อย ๆ สอน

ให้ลองตักข้าวกินเองบ้าง แม้เด็กจะทำได้ไม่เต็มที่ อาจหกเลอะเทอะ หรือกินช้า ก็ควรสนับสนุนให้เด็กทำเอง

นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังสามารถช่วยหยิบของ ที่ไม่เป็นอันตรายส่งให้พ่อแม่ได้ ซึ่งพ่อแม่ก็ควรฝึกหัดและชื่นชม เมื่อเด็กทำได้

จะช่วยให้เด็กมีทักษะที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย และเป็นเด็กที่มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่

การเลี้ยงลูกให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย เปรียบได้กับการสร้างรากแก้วของต้นไม้ให้แตกแขนงยืนหยัดได้ดี

4. เด็กขาดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์

เพราะถูกปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เด็กวัยนี้จะเป็นวัยที่เริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง อยากเล่น

อยากลองริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ชอบซักถามในสิ่งที่เขาสงสัย ซึ่งหากพ่อแม่เอาแต่ดุ หรือห้ามปรามด้วยความกังวล

เด็กจะกลัวและไม่กล้าริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่สนับสนุนให้เด็กได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่เขาอยากทำ

(ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์และไม่มีอันตราย) ได้สำเร็จ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถาม ในสิ่งที่เขาสงสัยใคร่รู้

เด็กจะมีจินตนาการ มีความกล้าคิดกล้าทำ กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ดี

การส่งเสริมให้ลูกกล้าคิดริเริ่ม จะทำให้ลูกมีความสามารถรอบด้าน เปรียบเสมือนการนำต้นไม้ออกจากถุงเพาะชำและปลูกลงดิน

เพื่อให้แตกกิ่งก้านสาขาได้มากมาย เพราะหากเราจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในกระถางแคบ ๆ ต้นไม้ก็จะแตกกิ่งก้านได้น้อย

และแคระแกร็น การปลูกต้นไม้ให้เติบโตงอกงาม ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่ดีที่ผู้ปลูกใส่ลงไป

การเลี้ยงดูเด็กก็เช่นกันครับ หมอคิดว่า ทุกคนคงอยากให้ลูกเติบโต โดยมีคุณลักษณะดี ๆ ที่พ่อแม่อยากให้เป็น

เช่น เป็นเด็กที่มีอารมณ์แจ่มใส มีน้ำใจรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามารถควบคุมอารมณ์ ไม่เอาแต่ใจ และทำตามกรอบกติกาได้

รวมทั้งสามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเลี้ยงดูเด็กให้มีลักษณะดังกล่าวได้

ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการดูแลและปลูกฝัง ที่คุณอบรมสั่งสอนให้เขา ดังนั้น เด็กจึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของวิธีการดูแล และปลูกฝังจากพ่อแม่

ที่มา meokayna