วันหนึ่ง พ่อชวนลูกชายออกไปเดินเล่นในป่า เดินไปเรื่อย ๆ แล้วระหว่างทางพ่อก็หยุดเดิน และได้ถามลูกว่า
“นอกจากเสียงนกร้องแล้ว ลูกได้ยินเสียงอะไรอีกหรือไม่”
ลูกหยุดเดินแล้วฟัง ก่อนจะตอบว่า “ยังมีเสียงรถม้าวิ่งอยู่”
พ่อบอกว่า ถูกต้องแล้ว นั่นคือรถม้าที่ไม่ได้บรรทุกสิ่งใดมา
ลูกแปลกใจ จึงได้ถามพ่อต่อไปว่า “พ่อรู้ได้อย่างไร ว่านั่นเป็นรถม้าเปล่า ๆ ไม่มีของ”
พ่อตอบว่า “ฟังจากเสียง เพราะรถม้ายิ่งว่างเปล่า เสียงก็จะยิ่งดังไงล่ะ”
เมื่อลูกชายโตขึ้น ทุกครั้งที่เจอคนที่ชอบคุยโม้ พูดจาโอหัง ชอบพูดข่มผู้อื่น ถือตน
เขามักจะมีความรู้สึกเหมือนพ่อมายืนกระซิบอยู่ข้าง ๆ ว่า “รถม้ายิ่งว่างเปล่า เสียงก็จะยิ่งดัง”
เขาจำได้ขึ้นใจ คนที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินข้ามห้วยน้ำลำธาร ก่อนที่จะลุยลงน้ำ เขามักหยิบหินขึ้นมาก้อนนึง
แล้วปาไปในน้ำ เพื่อเป็นการคาดคะเน ความลึกของน้ำ ว่าลึกเพียงใด
ละอองน้ำยิ่งกระจายสูงขึ้นเท่าไร น้ำในลำธารก็จะยิ่งตื้นเท่านั้น และตรงกันข้าม หากละอองน้ำกระเซ็นขึ้นมายิ่งน้อย
แล้วยังบวกกับกระแสน้ำที่ไหลเงียบสนิท พึงสังวรได้เลยว่า น้ำยิ่งลึกมาก
“น้ำนิ่งไหลลึก น้ำลึกยิ่งไร้เสียง” ..จำไว้
รถม้ายิ่งว่างเปล่าเท่าไร เสียงก็จะยิ่งดังเท่านั้น เหมือนกับคนเรา
คนดี แต่ไม่ทำตัวให้โด่ดเด่น ไม่โอ้อวด นั่นเป็นวิถีคนจริง
หากนำเอาหลักการเหล่านี้ มาเปรียบเปรยกับบุคคลที่เราได้พบเจอ จะสังเกตได้เลย
คนใจเย็นเวลาสนทนากับใคร มักจะสามารถหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับคู่สนทนา แล้วยังสามารถซึมซับ
รับรู้ถึงความคิดของคนอื่นได้ด้วย แทนที่จะดันทุรัง เอาความคิดตนเป็นใหญ่เพียงฝ่ายเดียว
คนที่ก้าวเดินด้วยความใจร้อน มักมองไม่เห็นตะปูบนพื้น
คนที่เต็มไปด้วยความกังวล ก็ไม่รู้จักรสชาติของวันชื่นคืนสุข
ปฐพีนี้ไม่มีสิ่งใดใหญ่เกินมหาสมุทร แต่เหนือสุดกว้างใหญ่ นั่นคือเวหา
แม้ว่าเวหาจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนนั้น แต่ยังกว้างสู้จิตใจคนมิได้หรอก
จงทำตัวให้เป็นดั่งน้ำนิ่งที่ไหลลึก น้ำลึกที่ไร้เสียง
ที่มา ขจรศักดิ์