คุณคงเคยเห็นคนที่แทรกตัวเองเข้าไปในทุกรูร่อง ที่สามารถทำให้เขาไปได้เร็วขึ้น ตัดหน้าแม้กระทั่ง
คนที่ยืนอยู่ตรงเครื่องออกบัตรคิว กระวนกระวายใจเมื่อต้องรอคอยบริการ งุ่นง่านเมื่อพบว่ายังไม่ถึงคิวตัวเองเสียที
ผมก็เป็นในบางที..
วิถีปัจจุบันและเวลาในชีวิต หล่อหลอมเราให้กลายเป็นคน “รอไม่ได้” หนักเข้าอาจกลายเป็น “รอไม่เป็น”
เช้านี้ผมอยู่ในสถานที่ที่ผู้คนรอคิวกันยาวเหยียด นั่งรอกันเป็นชั่วโมง จึงได้เห็นอาการกระวนกระวาย
ของผู้คนที่ไม่อยากรอเต็มไปหมด แต่ระหว่างสืบเท้าเร็วรี่ ก็หันไปเห็นคุณลุงคนหนึ่ง กำลังนั่งนิ่ง
หายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย ไม่ได้เล่นมือถือ ไม่ถือหนังสืออ่าน ราวกับอยู่ในช่วงปฏิบัติภาวนา
คุณลุงเหมือนปุ่ม pause ที่หยุดทุกความเร่งรีบในสถานที่แห่งนี้ ชวนให้ผมชะลอฝีเท้า และหายใจลึกยาวตามไปด้วย
“เรารีบไปไหน” คำถามนี้ผุดขึ้นในใจ
วันนี้ผมเดินทางมากับป๊า ป๊าวางแผนละเอียดว่า เสร็จกิจอย่างหนึ่ง ก็จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไปจนถึงกลับบ้าน
แล้วบอกว่า “เดี๋ยวเราต้องรอสักสองชั่วโมงนะ” ผมบอกป๊าว่า “ไม่ต้องห่วง สบาย ๆ วันนี้มีเวลาให้ป๊าทั้งวัน”
จบคำตอบก็รู้สึกว่า “เวลา” ดูเป็นสิ่งที่เราหวงแหนเสียเหลือเกิน และมันก็ดูผ่อนคลายขึ้นมาก
เมื่อเราปล่อยมือจากความหวงแหนนั้น ด้วยการให้เวลากับกิจกรรมที่ทำโดยไม่เร่งเร้า
ผมได้ยินหลายคนพูดถึงการเลือกดูหนังหรือซีรีส์ ว่าเป็นการ “ลงทุนเวลา” หรือใช้ทรัพยากรเวลาที่มีไปกับมัน
จึงต้องคิดคำนวณว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ถ้าเบื่อสักหน่อยก็รู้สึกว่าขอบาย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
น่าสนใจว่า วิธีคิดแบบทุนนิยมทำให้เรา “ออมเวลา” เหมือนออมเงิน และเห็นว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ไม่ควรเสียไปกับอะไรเปล่า ๆ ปลี้ ๆ
แต่อันที่จริง ชีวิตก็ไม่ได้อยู่ในหมวดการลงทุนขนาดนั้น เวลาไม่ต้องใช้ไปกับ “ประโยชน์” หรือ “ประสิทธิผล” ตลอดก็ได้
เพราะชีวิตมีสิ่งมีค่าที่วัดไม่ได้ชัด ๆ อีกมาก เช่น การรออย่างผ่อนคลาย อาจลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเครียด เส้นเลือ ดในสมองแตก ฯลฯ
นิสัย “รอได้” อาจดูคล้ายปล่อยเวลาผ่านไป โดยไม่เข้มงวดหรือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่มันคือการคลายใจ และฝึกฝนนิสัยสำคัญนั่นคือ “ปล่อย” บ้าง ไม่ต้องควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามตาราง
และรีบเร่งเสียจนดูเหมือน “สิ่งถัดไป” สำคัญกว่า “ปัจจุบัน” อยู่ตลอด
ผมมักอิจฉาคนที่นั่งรออย่างไม่กระวนกระวาย แน่ล่ะ.. สถานะ หน้าที่การงาน ความรวยจน มีผลต่อการ “รอได้” ไม่เท่ากัน
แต่บ่อยครั้งมิใช่หรือ ที่เรากลับพบเห็นคนที่น่าจะรอได้ กลายเป็นคนกระวนกระวายที่สุด และเกลียดการรอคอยที่สุด
เมื่อกามะสวามี พ่อค้าผู้มั่งคั่งถามสิทธารถะว่า มีความสามารถอะไร ได้ร่ำเรียนอะไรมาบ้าง
สิทธารถะตอบว่า “ฉันสามารถในการคิด ฉันรอคอยได้ ฉันอดทนได้”
นี่คือสามคุณสมบัติสำคัญที่เขาใช้ตลอดชีวิต ผู้ที่อดทนและรอคอยได้ ดูเหมือนจะมีเวลามากกว่าคนอื่น
มีความสงบในใจมากกว่าคนอื่น และยังเป็นคนที่น่ารักกว่า เพราะแก่งแย่งน้อยกว่า
หากรอคอยได้ เราจะไม่รู้สึกว่า ทุกสิ่งอย่างช่างไม่ทันใจ
เมื่อคืนนี้ได้ชมสารคดี The Playbook โค้ชบาสเก็ตบอลหญิงดาวน์ สเตเล่ พูดถึงข้อความจากพระคัมภีร์
ซึ่งเธอทดใส่ใจว่า “What is delayed is not denied.” – สิ่งที่ยังไม่ได้ตอนนี้ ไม่ได้แปลว่าถูกปฏิเสธ
บางที ชีวิตหรือพระเจ้า อาจดีเลย์ความสำเร็จเพื่อให้เราฝึกรอคอย
เธอเฝ้ารอการเป็นแชมป์รายการสูงสุด ตั้งแต่สมัยเป็นผู้เล่น กระทั่งมาสำเร็จตอนเป็นโค้ช ..นานหลายปีเลยทีเดียว
ความสามารถในการรอคอยมาพร้อมความอดทน และถ้ารอได้อย่างมุ่งมั่น ความสำเร็จจะตามมาในวันหนึ่ง
เราอาจหงุดหงิดใจ เมื่อสิ่งที่คาดหวังเกิดขึ้นช้าเหลือเกิน แต่ที่ช้าก็อาจเป็นเพราะใจเราเร็ว
ถ้าเรารีบ ทุกสิ่งก็ดูช้าไปเสียหมด
ถ้ารอได้ ทุกสิ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นในเวลาเหมาะสมของมัน
“คุณเร่งให้เร็วกว่านั้นไม่ได้ ช้ากว่านั้นก็ไม่ได้ คุณตั้งใจทำไปเรื่อย ๆ แล้วผลจะปรากฏเมื่อทุกอย่างพร้อม”
สเตเล่อาจไม่ได้พูดแบบนี้เสียทีเดียว แต่นี่คือใจความที่ผมเรียนรู้จากเธอ
ตอนเห็นป้าย “หยุดรอ” ที่พื้น ท่ามกลางความอลหม่านของผู้คน ที่พยายามไปให้เร็วที่สุด
ใช้เวลาให้น้อยที่สุด ผมอดคิดไม่ได้ว่า ชีวิตสมัยใหม่เร่งให้เราไปให้ถึง ทำให้เสร็จ ต้องสำเร็จไวอยู่ทุกลมหายใจ
แปลกดี ผมไม่อิจฉาคนที่รีบ แล้วแซงซอกซอนคนอื่นไปถึงเป็นคนแรก ผมกลับอิจฉาคนที่นั่งรออย่างใจเย็น โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น
“ใครใช้เวลาอย่างมีค่ามากกว่ากัน” ผมคิด.. ระหว่างมองไปที่ป้าย “หยุดรอ”
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Roundfinger